อาการหูอื้อ หูมีเสียง หรือประสาทหูเสื่อมนั้น ในทางการแพทย์แผนจีนเรียกอาการเหล่านี้ว่า เอ่อร์หมิง เอ่อร์หลง(耳鸣耳聋) เกิดขึ้นจากความผิดปกติของการได้ยินที่ลดลงหรือหายไป และมักจะได้ยินเสียงลักษณะคล้ายเสียงของจั๊กจั่นร้อง เสียงหวีด หรือเสียงเครื่องจักรใหญ่ในหู โดย อาการเหล่านี้อาจจะเป็นแค่อาการใดอาการนึงหรือเป็นพร้อมกันหลายอาการร่วมกัน เช่น มีเสียงในหูร่วมกับอาการปวดหู เป็นต้น ซึ่งอาการทั้งหมดนี้มีสาเหตุการเกิดโรคที่คล้ายคลึงกัน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางการแพทย์แผนจีนของอาการหูอื้อ หูมีเสียง หรือประสาทหูเสื่อมนั้น มีตำแหน่งพยาธิสภาพ อยู่ที่บริเวณหู อวัยวะที่สังกัดอยู่ที่ไต(肾)และอยู่เส้นลมปราณเส้าหยาง(少阳) โดยสาเหตุการเกิดโรคมีดังนี้
- การที่ลมภายนอกเข้ามากระทำภายใน ทำให้เกิดการอุดกลั้นของทวารหู
อาการแสดง มักเริ่มจากการเป็นหวัดตามด้วยอาการหูอื้อ หูหนวกหรือรู้สึกแน่นตึงในหู ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ กลัวลม มีไข้ ปากแห้งลิ้นแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรเต้นแบบลอยเร็ว
- และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ ไฟที่อวัยวะตับ และถุงน้ำดีมีมากเกินไป ทำให้เกิดการอุดกลั้นการกระจายของชี่ในเส้นลมปราณ
อาการแสดง เมื่อมีอาการโกรธจะทำให้อาการหูอื้อเป็นมากขึ้น อาจมีอาการปวดหนักในหู ร่วมกับปวดศีรษะ หน้าแดง ขมในปาก คอแห้ง หงุดหงิด โมโหง่าย ท้องผูก มีลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเต้นเร็ว
- รวมถึงสาเหตุ การสะสมของเสมหะและความร้อน ซึ่งเกิดจากอารมณ์และอาหารที่บริโภคเข้าไปในร่างกาย
อาการแสดง มีเสียงความถี่สูงในหูคล้ายเสียงจักจั่น การได้ยินลดลง ร่วมกับวิงเวียนศีรษะ ตาลาย แน่นหน้าอก เสมหะมากมีลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงลื่น
- และยังมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องอีกนั่นก็ คือม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง เกิดจากการรับประทานอาหารรสจัดเกินไป มักมีอาการครุ่นคิดและคิดมาก
อาการแสดง อาการเสียงดังในหูเป็นพัก ๆ ดังบ้างค่อยบ้าง ทานอาหารได้น้อย ท้องอืดแน่น มักถ่ายเหลว อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อตรากตรำ หากได้พักผ่อนอาการจะดีขึ้น สีลิ้นซีด ฝ้าบางขาวหรือเหนียวเล็กน้อย ชีพจรเส้นเล็กเต้นเบา
- อีกหนึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ก็คือ สารจำเป็นของไตพร่อง เกิดจากร่ายกายที่อ่อนแอตั้งแต่กำเนิด หรือมีอาการป่วยเรื้อรังต่างๆ จนทำให้จิงชี่(精气)สารจำเป็นไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงที่บริเวณทวารหูได้
อาการแสดง การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ จนไม่ได้ยิน อาการหูอื้อจะชัดเจนในเวลากลางคืน ร่วมกับนอนไม่หลับวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเอวและเข่าอ่อนแรง ลิ้นสีแดง ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรเส้นเล็กตึง เส้นเล็กเต้นเบา
กล่าวคือ เมื่อการทำงานของ 3 อวัยวะคือ ตับ ไต และถุงน้ำดีทำงานไม่ปกติ ก็จะส่งผลกระทบกับเส้นลมปราณ ทำให้ระบบการทำงาน ของเส้นลมปราณ เกิดการติดขัด รวมทั้งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดลมเดินทางได้ไม่สะดวก ทำให้สิ่งภายนอกเข้ามาแทรกแซง จนเกิดการเจ็บป่วย ส่งผลกระทบกับการทำงานของหู
หลักการรักษาในทางการแพทย์แผนจีนจะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ และปรับการทำงานของอวัยวะภายใน ให้เกิดความสมดุล ซึ่งตำรับยาที่ใช้ในการรักษาตับ และไต ที่เกิดจากอินพร่องนั้น นั่นก็คือ ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน ตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน สามารถรักษาอาการปวดเมื่อยล้า บริเวณเอว มึนหัว เวียนศีรษะ ตาลาย หูอื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำอสุจิไหลไม่รู้ตัว ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นแดง
ในตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน ประกอบไปด้วยตัวยา 8 ชนิด ได้แก่
สูตี้หวง หรือ โกฎขี้แมว เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย สรรพคุณ บำรุงอิน บำรุงไต บำรุงเลือด นิยมใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเอว หูอื้อ วิงเวียน เหงื่อออกตอนกลางคืน
ซันจูหวี เข้าเส้นลมปราณ ตับไต รสเปรี้ยว ฝาด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย สรรพคุณ บำรุงหยินในตับ บำรุงไต บรรเทาอาการวิงเวียน หูอื้อ อาการปวดเมื่อยบริเวณเอว ช่วยในเรื่องลดความดันโลหิต อาการรู้สึกร้อนจากข้างในร่างกายในผู้ป่วยเบาหวาน
ซันเย้า หรือ ฮ่วยซัว เข้าเส้นลมปราณม้าม ปอด ไต รสหวาน ฤทธิ์สุขุม สรรพคุณบำรุงหยินในม้าม บำรุงปอด บำรุงกระเพาะอาหาร บำรุงไต ใช้รักษาอาการตกขาว ฝันเปียก ปัสสาวะบ่อย หอบหืด เบื่ออาหาร คนที่เป็นโรคเบาหวาน
จื๋อเซี่ย เข้าเส้นลมปราณไต กระเพาะปัสสาวะ รสหวานจืด ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ขับความชื้น ระบายความร้อน ทำให้เลือดเย็นลง ลดอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ
ฟูหลิง หรือ โป่งรากสน เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ปอด ม้าม ไต รสจืดอมหวาน ฤทธิ์สุขุม สรรพคุณ บำรุงม้าม ขับความชื้น ขับปัสสาวะ สงบจิตใจ รักษาอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ
หมู่ตันผี หรือเปลือกรากโบตั๋น เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ตับ ไต รสขม เผ็ด ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย สรรพคุณ ขับพิษร้อน ทำให้เลือดเย็น สลายเลือดคั่ง นิยมใช้ในผู้ป่วยผดผื่นแดงผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำจากแรงกระแทก
นอกจากสมุนไพรในตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวานจะช่วยในเรื่องของการรักษาอาการหูอื้อได้ดีแล้วนั้น ยังมีสมุนไพรจีนตัวอื่น ที่มีสรรพคุณช่วยกระจายชี่ของตับ อย่างเช่น ฉายหู ในการรักษาคนไข้ที่มีอาการหูอื้อ หูมีเสียง หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายอีกด้วย
ฉือสือ หรือชื่อภาษาไทยเรียกสินแร่แม่เหล็ก มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย มีสรรพคุณ ในการบำรุงอิน บำรุงเลือด นำรุงธาตุน้ำ สารจำเป็น และไขกระดูก ในการช่วยเรื่องอาการ หูมีเสียง วิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยอ่อนแรงที่เอวและหัวเข่า ผมหงอกก่อนวันอันควร ได้เช่นกัน
อาการหูอื้อ หูมีเสียง ประสาทหูเสื่อม ทางการแพทย์จีน เน้นการรักษาความสมดุลของการทำงานอวัยวะทั้ง 3 ก็คือ ตับ ไต และถุงน้ำดี ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกาย การทานอาหารให้ตรงเวลา นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานสมุนไพรจีนเพื่อบำรุงร่างกายในการปรับอวัยวะภายในให้กลับมาทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน
แพทย์จีนอิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์