โรคริดสีดวงทวาร คือโครงสร้างหลอดเลือดในช่องทวารหนัก ในสภาพปกติจะมีลักษณะเป็นนวมและช่วยในการกลั้นอุจจาระ เมื่อบวมหรืออักเสบจะมีพยาธิสภาพเป็น หัวริดสีดวง
โรคริดสีดวงทวาร กับศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น วิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ที่เกิดโรคนั้นเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย จากพฤติกรรมการทานอาหารรสเผ็ดจัดมากเกินไป, ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลร่างกายเกิดความชื้นและความร้อนไปสะสมบริเวณลำไส้ใหญ่ ทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นอุดตัน เกิดเป็นริดสีดวงทวารหรือจากพฤติกรรมท้องเสียต่อเนื่อง ถ่ายบ่อย นั่งนาน ยืนนาน เหนื่อยมากเกินไป อุจจาระแข็ง ใช้แรงเบ่งถ่ายมาก หรือในสตรีตั้งครรภ์เองส่งผลให้ ร่ายกายอ่อนแอ ลมปราณและเลือดพร่อง ทำให้เกิดความแห้ง ลำไส้หย่อนถ่วงลง เกิดเป็นริดสีดวงทวารได้เช่นกัน
ริดสีดวงทวาร แบ่งเป็น 3 ชนิดตามบริเวณที่เป็นโรคได้แก่ ริดสีดวงทวารภายใน ริดสีดวงทวารภายนอก และริดสีดวงทวารแบบผสม(คือเป็นทั้งด้านในและข้างนอก) แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าเราเป็นริดสีดวงทวารแบบไหน วันนี้มีวิธีสังเกตง่ายๆ มาฝากกันค่ะ
1) ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไป ตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
2) หากเป็นริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก ฉะนั้นวิธีแยกริดสีดวงทวารภายในและภายนอกนั้น ต่างกันที่ ความรู้สึกเจ็บปวดค่ะ ริดสีดวงทวารภายในมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดแต่ถ้าเป็นริดสีดวงทวารภายนอกจะมีอาการเจ็บปวดชัดเจน
ริดสีดวงทวารภายในยังสามารถ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ
1. ระยะที่ยังไม่มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมานอกทวารหนัก
2. ระยะที่เริ่มมีติ่งเนื้อ หรือก้อนยื่นออกมาขนาดเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง โดยที่ไม่ต้องใช้มือช่วยดัน
3. ระยะที่ติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระ แต่ไม่หดกลับเข้าไปได้ ต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป จึงสามารถกลับเข้าไปที่รูทวารได้
4. ระยะนี้ติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาแล้ว ไม่สามารถใช้นิ้วมือดันติ่งเนื้อเข้าไปในทวารหนักได้เลย
ในส่วนของแพทย์แผนจีนแบ่งกลุ่มอาการโรคริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่ม ลมร้อนมากระทบลำไส้ทำให้ลำไส้เกิดความร้อนจนแห้ง(风热肠燥症)
กลุ่ม ความร้อนชื้นไหลลงสู่ช่วงล่าง( 湿热下注证 )
กลุ่ม ลมปราณติดขัดเลือดคั่ง( 气滞血瘀证 )
กลุ่ม ม้ามพร่องลมปราณจมลงล่าง( 脾虚气陷证 )
1. กลุ่มอาการ :: ลมร้อนมากระทบลำไส้ทำให้ลำไส้เกิดความร้อนจนแห้ง (风热肠燥症)
อาการทางคลินิก :: อุจจาระมีเลือดปน มีหยดเลือดหรือละอองเลือดออกมากับอุจจาระ เลือดมีสีแดงสด ท้องผูก ถ่ายแข็ง อุจจาระแห้ง
ลักษณะเด่นของกลุ่มอาการนี้ก็คือ มีอาการคันที่รูทวารหนัก
2. กลุ่มอาการ :: ความร้อนชื้นไหลลงสู่ช่วงล่าง( 湿热下注证 )
อาการทางคลินิก :: อุจจาระปนเลือดสีแดงสด ปริมาณมาก ริดสีดวงบวมโผล่ออกมาจากรูทวาร แต่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง
ลักษณะเด่นของกลุ่มอาการนี้ก็คือ มีอาการแสบร้อนที่รูทวาร
3. กลุ่มอาการ :: ลมปราณติดขัดเลือดคั่ง( 气滞血瘀证 )
อาการทางคลินิก :: ริดสีดวงบวมโผล่ออกมาจากรูทวาร แน่น เจ็บปวด มีลิ่มเลือด มีลักษณะบวมน้ำ
ลักษณะเด่นของกลุ่มอาการนี้ก็คือ ปวดอย่างชัดเจน
4 กลุ่มอาการ :: ม้ามพร่องลมปราณจมลงล่าง( 脾虚气陷证 )
อาการทางคลินิก :: เวลาอุจจาระอาการจะหนักขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาไอจาม ยกสิ่งของหนัก ๆ หรือเกิดอาการเกร็งหน้าท้อง หัวริดสีดวงจะโผล่ออกมานอกทวารหนักแล้วไม่สามารถกลับเข้าไปที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือช่วยดันกลับเข้าไป ลักษณะอุจจาระสีแดงสด หรือสีซีด มึนหัว หายใจสั้น สีหน้าไม่มีชีวิตชีวา เหงื่อออก ถ่ายเหลว
ลักษณะเด่นของอาการนี้ก็คือ ผู้ป่วย หน้าซีด อ่อนเพลีย หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกทวารแล้วไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้นิ้วมือช่วยดันกลับเข้าไป
แนวทางในการรักษาโรคริดสีดวงทวารตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน นั้นสามารถทำได้ด้วยหลายวิธีการ เช่น การรับประทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณช่วยระบายความร้อน ขจัดลมร้อนชื้น เสริมพลังชี่ บำรุงม้าม กระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ลดการอักเสบ ระงับปวด การแช่ยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ระงับปวด สมานแผล และลดบวม หรือใช้ยาสมุนไพรจีนในรูปแบบครีมทาริดสีดวง จะช่วยลดการบวม ระงับปวด ช่วยสมานแผลและห้ามเลือดได้
ตัวยาสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นยาภายนอกรักษาริดสีดวง สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการห้ามเลือดได้ดี ยกตัวอย่าง ตี้หยู 地榆 จื้อจื่อ (栀子)
ตี้หยู 地榆 เข้าเส้นลมปราณตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ มีรสขม ฝาด ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย
สรรพคุณ ทำให้เลือดเย็น ห้ามเลือด ขจัดพิษ รักษาแผลติดเชื้อ
ใช้รักษากลุ่มอาการ เลือดออกจากเลือดร้อน เช่น ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาออก ถ่ายเป็นเลือดริดสีดวงทวาร
ประจำเดือนมามากผิดปกติ
จื้อจื่อ (栀子) หรือ ดอกพุดซ้อน เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร และซันเจียว มีรสขมฤทธิ์เย็นมาก
สรรพคุณ ระบายไฟ ทำให้เลือดเย็นลง ห้ามเลือด ขจัดร้อน สลายความชื้น
ใช้รักษากลุ่มอาการ เลือดร้อน เลือดออก อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด รักษาตุ่มหรือฝีที่มีพิษร้อน
กลุ่มตัวยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดปวด ยุบบวม ได้แก่ หองฮัว (红花) ชวงซีออง (川芎) ปิงเปี่ยน (冰片)
หองฮัว (红花) ดอกคำฝอย เข้าเส้นลมปราณหัวใจ และตับ มีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย
สรรพคุณ เพิ่มการไหลเวียน สลายเลือดคั่ง ช่วยทะลวงเส้นลมปราณแก้ปวด
ใช้รักษากลุ่มอาการ เลือดคั่ง ปวดประจำเดือน ปวดท้องจากเลือดคั่ง
**คำเตือน**ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
ชวงซีออง (川芎) โกฐหัวบัว เข้าเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ ตับ และถุงน้ำดี มีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น
สรรพคุณ ทำให้เลือดไหลเวียนดี ขับเคลื่อนชี่ ไล่ลม แก้ปวด
ใช้รักษากลุ่มอาการ เลือดคั่งและชี่ติดขัดปวดศีรษะ
**คำเตือน**ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
ปิงเปี่ยน (冰片) หรือพิมเสน เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ม้าม และปอด มีรสเผ็ด ขม ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย
สรรพคุณ ช่วยให้รู้สึกตัว ขจัดความร้อนลดบวม ระงับปวด มักใช้ภายนอกทำให้บริเวณนั้นรู้สึกเย็น ช่วยขจัดความร้อน แก้บวม แก้ปวด
นอกจากนี้แพทย์จีนยังนิยมใส่ จินอิ๋งฮัว (金银花) หรือ ดอกสายน้ำผึ้ง ในการดับร้อน ขจัดพิษ สลายลมร้อนของอาการปวดแสบร้อนและอาการคันบริเวณรูทวารในผู้ป่วยโรคริดสีดวงอีกด้วย
แพทย์จีน เน้นการ ปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะภายในให้สมดุล ใช้ยาเย็น รักษาอาการร้อน ใช้ยาร้อน รักษาอาการอาการเย็น สมุนไพรจีนที่กล่าวมาข้างต้นสามารถช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคริดสีดวงทวารได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นอาการคัน แสบร้อน อาการเจ็บปวด เลือดออก
แพทย์จีนอิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์